กฏหมาย

คำว่า กฎหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542[1] นั้น หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้ให้ความหมายของกฎหมายไว้ดังนี้

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย[2] ได้พิจารณากฎหมายใน 2 ลักษณะ คือ กฎหมายตามเนื้อความ และกฎหมายตามแบบพิธี โดยกฎหมายตามเนื้อความ หมายความถึง กฎหมายซึ่งบทบัญญัติ มีลักษณะเป็นกฎหมายแท้ กล่าวคือ มีลักษณะเป็นข้อบังคับซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ ในสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นข้อบังคับของรัฐ ส่วนกฎหมายตามแบบพิธี หมายความถึง กฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นเข้าลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่

มานิตย์ จุมปา[3] อธิบายไว้ว่า กฎหมาย หมายถึง กฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคลในสังคมซึ่งบุคคลจะต้องปฏิบัติตามหรือควรจะปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะได้รับผลร้ายหรือไม่ได้รับผลดีที่เป็นสภาพบังคับโดยเจ้าหน้าที่ในระบบกฎหมาย

สมยศ เชื้อไทย[4] อธิบายไว้ว่า กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนความประพฤติของมนุษย์ในสังคมซึ่งมีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจจะลักษณะ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายนั้นมีความหมายในหลายแง่มุม ซึ่งการนิยามความหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามแนวความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกันตามลักษณะของสังคมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความต้องการของประชาชนในสังคมนั้น ๆ ทั้งนี้ จากความหมายของกฎหมายข้างต้น สามารถจำแนกลักษณะของกฎหมายได้ 4 ประการ[5] คือ

1. กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้

2. กฎหมายต้องกำหนดความประพฤติของบุคคล ความประพฤติในที่นี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจ ซึ่งความประพฤติของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนั้น ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องมีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และต้องกระทำภายใต้การควบคุมของจิตใจ

3. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ กฎหมายจะมีสภาพบังคับเพื่อให้มนุษย์จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น โดยสภาพบังคับของกฎหมายมีทั้งสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายและสภาพบังคับที่เป็นผลดี

4. กฎหมายต้องมีกระบวนการที่แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องมีกระบวนการที่แน่นอน